นายประกอบ เผ่าพงศ์ อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า ภาคการเกษตรด้านหม่อนไหมเป็นภาคเศรษฐกิจหนึ่งที่สําคัญของประเทศไทย อย่างไรก็ดี เกษตรกรหม่อนไหมส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาในเรื่องการตลาด ขาดความรู้เรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ และขาดเงินทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดตลาดรับซื้อที่แน่นอน ในขณะที่บางส่วนยังขาดวัตถุดิบในการผลิตสินค้าหม่อนไหม ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันค่อนข้างต่ำและมีการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 มีเกษตรกรหม่อนไหมออกจากอาชีพแล้วกว่า 21,000 ราย เนื่องจากเป็นผู้สูงอายุ เป็นผู้ป่วยและผู้พิการ รวมถึงผู้ที่ต้องดูแลสมาชิกกลุ่มผู้เปราะบาง จึงได้มอบนโยบายการส่งเสริมและสนับสนุนให้บุตรหลานของผู้สูงอายุ ทายาทหม่อนไหม หรือเยาวชนหันมาสืบทอดการประกอบอาชีพหม่อนไหม รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจหันมาประกอบอาชีพหม่อนไหมมากขึ้น เนื่องจากเป็นอาชีพที่สร้างรายได้โดยใช้ระยะเวลาสั้น ทั้งยังสนับสนุนให้ผู้ที่ออกจากอาชีพไปแล้ว กลับมาประกอบอาชีพหม่อนไหมได้อีกเกือบ 1,000 ราย
ในขณะเดียวกัน มีการวิจัยและพัฒนา วัสดุอุปกรณ์การทำงานด้านหม่อนไหม ต่างๆ เพื่อรองรับผู้สูงอายุและผู้พิการ ให้สามารถประกอบอาชีพด้านหม่อนไหมได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย ตลาดนำการผลิตของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาใช้ในการดำเนินโครงการต่างๆ เช่น การจัดการสัมมนาเชื่อมโยงตลาดเส้นไหมระหว่างเกษตรกรผู้ผลิตเส้นไหมกับกลุ่มเกษตรกรผู้ทอผ้าไหม ที่กรมหม่อนไหมเป็นตัวกลางในการประสานงานจับคู่ระหว่างเกษตรกรผู้ผลิตเส้นไหมและกลุ่มเกษตรกรผู้รับซื้อวัตถุดิบ ที่จะได้เส้นไหมที่มีคุณภาพไปทอผ้าไหมในราคาที่เป็นธรรม เป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเส้นไหมไม่เพียงพอกับความต้องการในพื้นที่ ทำให้เกษตรกรสามารถวางแผนการผลิต ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพมาตรฐาน ตรงตามความต้องการของตลาด เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตสินค้าและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันการผลิตสินค้าหม่อนไหมของไทยและในตลาดสากล
แหล่งที่มา https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230317105630049